รีวิวละครแห่งชีวิต ต้นแบบนวนิยายต่างแดน 1 ในหนังสือ 100 เล่มที่คนไทยควรอ่าน

Books and My Quotes

เพจคุยเรื่องหนังสือ รวมเรื่องราวประทับใจจากหนังสือที่รัก จากแอดมินคนเดียวคนเดิมจากเพจซีรีส์ที่รักค่ะ

          ละครแห่งชีวิต : หม่อมเจ้าอากาศดำเกิง รพีพัฒน์ #หนังสือที่รัก #หนังสือในตู้ #ความทรงจำระหว่างบรรทัดจากหนังสือที่รัก
ละครแห่งชีวิต

          หนังสือนวนิยายเรื่อง ละครแห่งชีวิต ตีพิมพ์ครั้งแรกเมื่อปี พ.ศ. 2472 เป็นหนึ่งในหนังสือจาก หนังสือ 100 เล่มที่คนไทยควรอ่าน ตามโครงการวิจัยของสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) ที่คัดเลือกและแนะนำหนังสือดีในรอบศตวรรษ
          นวนิยายเรื่องนี้เป็นนวนิยายที่ได้รับการเชิดชูว่าเป็นต้นแบบของนวนิยายต่างแดน (Exotic Novel) ระหว่างอ่านก็เพลินกับเรื่องราวชีวิตนักเรียนอังกฤษในยุคเจ็ดแปดสิบปีก่อน
          ส่วนตัวอ่านจบนานแล้ว แต่อยากบันทึกเรื่องราวเก็บไว้ ในขณะที่อ่านก็รู้สึกว่าสนุกเพลิดเพลิน เนื้อเรื่องเป็นเรื่องราวที่อ่านแล้วรู้สึกราวกับว่าจะเกี่ยวกับชีวิตของผู้เขียนเอง ที่รู้สึกน้อยเนื้อต่ำใจจากความอยุติธรรม การไม่ได้รับความรักความเอาใจใส่จากผู้เป็นบิดาและครอบครัว เหมือนลูกที่ถูกทิ้ง ถูกละเลย และไม่ได้รับโอกาสเท่าพี่น้องคนอื่นในครอบครัว จนต้องดิ้นรนเพื่อตนเอง ขอรับเงินมรดกจากปู่ที่ได้แบ่งไว้ให้เป็นทุนรอนไปเรียนต่างประเทศ
          แต่เดิมจากที่ตั้งใจไปเรียนกฎหมาย แต่ชีวิตหักเหไปพบครอบครัวชาวอังกฤษที่เมตตาดูแลระหว่างศึกษาที่อังกฤษ ปรากฏว่า แด๊ดดี้และแม่ชาวอังกฤษกลับรักและดูแลอย่างดีกว่าพ่อแม่แท้ๆในเมืองไทย และได้ชักนำให้รู้จักกับญาติมิตรในวงการนักหนังสือพิมพ์ในอังกฤษ จนชีวิตหักเห ประกอบกับความสามารถในการใช้ภาษาเขียนบทความเรื่องราวต่างๆที่พบในระหว่างที่ใช้ชีวิตในต่างประเทศ และได้ตีพิมพ์ลงในหนังสือพิมพ์ที่มีชื่อเสียงของโลกอย่างลอนดอนไทมส์
          ผู้เขียนได้พบนักหนังสือพิมพ์สาวสวยผู้เป็นรักเดียว แต่ตัดใจไม่สามารถแต่งงานด้วยได้ เพราะความต่างทางเชื้อชาติ และการเล็งเห็นปัญหาที่จะเกิดขึ้น หากแต่งงานกันและมาใช้ชีวิตในเมืองไทยในยุคนั้น
          เรื่องราวละครชีวิต เปรียบเปรยกับชีวิตของผู้เขียนที่พบเจอระหว่างใช้ชีวิตในต่างประเทศ และเปรียบเปรยกับชีวิตนักหนังสือพิมพ์ที่ทำงานอยู่ท่ามกลางเรื่องราวชีวิตของผู้คนรอบตัว ใช้ชีวิตเดินทางเร่ร่อนไปในหลายๆประเทศ เป็นชีวิตแบบพิเศษที่น่าสนใจ
          เรื่องราวละครชีวิตในนวนิยายเรื่องนี้จบลง เมื่อผู้เขียนไม่สามารถใช้ชีวิตต่อในอาชีพนักหนังสือพิมพ์ต่อได้ เพราะปัญหาสุขภาพ จนต้องตัดสินใจทิ้งชีวิตที่ต่างประเทศ และเดินทางกลับสู่เมืองไทย เพื่อเริ่มบทละครชีวิตช่วงต่อไปของตนเอง

#เกร็ดความรู้จากหนังสือ

          ก่อนเริ่มบทแรกในฉบับตีพิมพ์เมื่อปี 2534 ได้กล่าวนำบทไว้ว่า “อุทิศทูลเกล้าฯ ถวายสมเด็จเจ้าฟ้ากรมพระนครสวรรค์วรพินิจ ผู้ทรงอุปถัมภ์ให้หนังสือเล่มนี้เป็นผลสำเร็จได้ และอุทิศให้ “Maria Vanzini” เพื่อนที่รักร่วมชีวิตของผู้แต่ง”
          โปรยปกในฉบับพิมพ์ครั้งแรกโดยสำนักพิมพ์บางหลวง เมื่อเดือนพฤศจิกายน 2534
ละครแห่งชีวิต

          คำนิยมโดยศรีบูรพา (กุหลาบ สายประดิษฐ์) จาก “ชีวิตหม่อมเจ้าอากาศฯ ในโลกหนังสือ”
          “…เมื่อข้าพเจ้าได้อ่านหนังสือละครแห่งชีวิตโดยฝีปากของหม่อมเจ้าอากาศดำเกิง ในปี พ.ศ. 2472 สวรรค์เป็นพยาน ว่าข้าพเจ้าได้อ่านรวดเดียวจบ ข้าพเจ้าไม่เคยอ่านหนังสือขนาดยาว 500 หน้ารวดเดียวจบ ละครแห่งชีวิตเป็นหนังสือเล่มแรกที่ทำให้ข้าพเจ้ามีความสำเร็จในการอ่านหนังสือ ข้าพเจ้าจับใจในความสามารถของเพื่อนผู้นี้อย่างยิ่ง… ข้าพเจ้าโปรดฝีปากของนักประพันธ์หนุ่มผู้นี้ด้วยเหตุ 3 ประการคือ
          “1. เรื่องทั้งหมดของหม่อมเจ้าอากาศฯ ที่ทรงนิพนธ์ในยุค 3 ปีนี้ เป็นเรื่องที่แต่งด้วยหัวคิดของท่านเองทั้งสิ้น ไม่ได้แปลหรือแปลงจากเรื่องฝรั่ง เป็น Original Work อย่างบริสุทธิ์ผุดผ่องแท้จริง เป็นเรื่องที่จะทำให้ท่านผู้แต่งรับรองว่า ท่านเป็นนักประพันธ์ไทยได้เต็มปากเต็มคำ
          “2. เรื่องของหม่อมเจ้าอากาศฯ ทุกเรื่องเป็นเรื่องเศร้าที่มีรสใหม่ในตลาดหนังสือเมืองไทย
          “3. ข้าพเจ้ามีความเห็นว่า การอ่านชีวิตเศร้าของบุคคลต่างๆ ช่วยให้เราเป็นคนไม่ประมาทเป็นข้อแรก และช่วยให้เราเกิดความเห็นอกเห็นใจในคนอื่นเป็นข้อสุดท้าย…” ในหนังสือฉบับพิมพ์เมื่อปี 2534 ได้ลงบทความที่กุหลาบ สายประดิษฐ์ เขียนสดุดีหม่อมเจ้าอากาศดำเกิงฯ ไว้ในบทความที่ชื่อว่า “ชีวิตหม่อมเจ้าอากาศฯ ในโลกหนังสือ” มีรายละเอียดที่น่าสนใจที่ขอยกมาอีกตอนหนึ่งว่า
          “…ครั้งหนึ่งเรารับประทานอาหารด้วยกันสองต่อสอง ได้มีโอกาสคุยกันถึงเรื่องหนังสืออย่างสนุก ข้าพเจ้าจึงหยั่งความรู้สึกอันนี้ของหม่อมเจ้าอากาศดำเกิงฯ ได้ ท่านเชื่อมั่นว่าคำยกย่องเหล่านั้นไม่เกินกว่าที่ท่านควรจะได้ ข้าพเจ้าจึงเห็นว่าในเมืองไทย หม่อมเจ้าอากาศฯ ยังมีสิ่งที่จะต้องเรียนต่อไปอีก ข้าพเจ้าได้พูดกับท่านก่อนจะจากกันว่า
          “หนังสือละครแห่งชีวิตของท่านดีจริงๆ คำยกย่องเหล่านั้นอาจจะเที่ยงตรง แต่ท่านต้องไม่ลืมว่าท่านเป็นเจ้า ถ้าท่านทำดีเพียงหนึ่ง เขามักจะให้ท่านถึงสาม แต่ถ้าท่านเปลี่ยนมาเป็นอย่างพวกเราๆ แม้ท่านทำดีสาม เขามักจะให้ท่านเพียงหนึ่งเท่านั้น ท่านควรระวังในเรื่องเล็กน้อยเหล่านี้” ข้าพเจ้าเชื่อเสมอว่า หม่อมเจ้าอากาศดำเกิงฯ เป็นคนซื่อและดี
         เมื่ออ่านข่าวมรณกรรมของหม่อมเจ้าอากาศฯ ข้าพเจ้ารู้สึกเสียวปลาบที่หัวใจ ความตายของเพื่อนรักบางคนได้สั่นความรู้สึกของข้าพเจ้ามาแล้ว ความตายของเจ้านายอันที่เคารพก็ได้ผ่านมาในความรู้สึกประดุจกัน ความตายของนักประพันธ์ที่มีชื่อเสียงหลายคนก็ได้ทำความสลดสังเวชใจให้เนืองๆ
          แต่ความตายของคนคนหนึ่งซึ่งรวมบุคคลทั้งสามคนไว้ในตัวเขา ข้าพเจ้าพึ่งได้พบในมรณกรรมของหม่อมเจ้าอากาศดำเกิง ความรู้สึกของข้าพเจ้าสะเทือนไปด้วยความเศร้าสลดใจอันลึกซึ้ง และคงมีอีกหลายร้อยคนที่เหมือนหรือคล้ายคลึงกับข้าพเจ้า ถ้าเพียงแต่หม่อมเจ้าอากาศฯ ไม่ได้ไปเสียจากสยาม ถ้าเพียงแต่ท่านได้มาประชวรอยู่ในท่ามกลางความเอาใจใส่ของพระประยูรญาติและมิตรสหาย ท่านจะเสียพระชนม์ชีพอันมีค่าเสียแต่ในวันที่ 18 พฤษภาคม พ.ศ. 2475 จริงหรือ? ท่านชายที่มีอายุเพียง 28 ปี ท่านชายที่อาภัพและน่าสงสาร!”
          หม่อมเจ้าอากาศดำเกิง รพีพัฒน์ เป็นที่รู้จักในนามปากกา ‘วรเศวต’ เป็นพระโอรสในพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหลวงราชบุรีดิเรกฤทธิ์ ประสูติแต่หม่อมอ่อน รพีพัฒน์ ณ อยุธยา เมื่อวันที่ 12 พฤศจิกายน พ.ศ. 2447
          ทรงศึกษาชั้นต้นจากโรงเรียนอัสสัมชัญ และศึกษาต่อชั้นมัธยมที่ 4 ที่โรงเรียนเทพศิรินทร์ แต่สอบตกชั้นมัธยม 7 จึงทรงออกจากโรงเรียน เสด็จไปศึกษาต่อวิชากฎหมายที่สำนักมิดเดิ้ลเทมเปิ้ล กรุงลอนดอน ประเทศอังกฤษ แต่ด้วยความที่ไม่โปรดเรื่องกฎหมาย จึงทรงคลุกคลีอยู่กับหมู่นักหนังสือพิมพ์ชาวอังกฤษ จนล้มเหลวในเรื่องการศึกษา แต่โชคดีที่ได้รับพระราชทานทุนจากพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว ให้ไปศึกษาวิชาการต่างประเทศที่เมืองจอร์จทาวน์ สหรัฐอเมริกา แต่ประชวรหนักทำให้ต้องเสด็จกลับประเทศไทย
          หม่อมเจ้าอากาศดำเกิง ทรงเข้ารับราชการในกรมไปรษณีย์โทรเลข และกรมสาธารณสุข กระทรวงมหาดไทย ทรงสนพระทัยในการประพันธ์มาตั้งแต่ครั้งศึกษาอยู่ที่โรงเรียนเทพศิรินทร์ โดยทรงร่วมกับ กุหลาบ สายประดิษฐ์ ทำหนังสือในห้องเรียน เมื่อมาทำงานที่กรมสาธารณสุข ได้นิพนธ์นวนิยายเรื่องแรกคือ “ละครแห่งชีวิต” โดยสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้าบริพัตรสุขุมพันธุ์ กรมพระนครสวรรค์วรพินิต เสนาบดีกระทรวงมหาดไทย ได้ประทานเงินทุนจัดพิมพ์ เมื่อปี พ.ศ. 2472 แม้ว่าจะมีราคาสูงถึงเล่มละ 3.50 บาท แต่ปรากฏว่าขายหมดทั้ง 2,000 เล่ม จนต้องมีการพิมพ์ครั้งที่สอง
          ในปี พ.ศ. 2473 หม่อมเจ้าอากาศดำเกิง นิพนธ์เรื่อง ผิวเหลืองหรือผิวขาว (ต่อมาใช้ชื่อ “ผิวเหลืองผิวขาว”) และตามมาด้วยรวมเรื่องสั้น วิมานทลาย กับ ครอบจักรวาล หม่อมเจ้าอากาศดำเกิงทรงประสบความผิดหวังในเรื่องความรักและชีวิต เนื่องจากฐานะทางเศรษฐกิจตกต่ำ จึงเสด็จหนีไปฮ่องกงในปลายเดือนมกราคม ปี พ.ศ. 2474 ดำรงชนม์ชีพด้วยการเขียนบทความลงพิมพ์ในหนังสือพิมพ์ฮ่องกง
          หม่อมเจ้าอากาศดำเกิง รพีพัฒน์ สิ้นชีพิตักษัย เมื่อวันที่ 18 พฤษภาคม พ.ศ. 2475 สิริชันษา 27 ปี ตามเอกสารฮ่องกงระบุว่าด้วยไข้มาลาเรีย แต่มีผู้เห็นเหตุการณ์กล่าวว่า เป็นการเปิดแก๊สปลงชนม์ (ประเด็นสาเหตุการสิ้นชีพิตักษัยยังมีข้อถกเถียงถึงข้อเท็จจริง สามารถสืบค้นอ่านบทความเพิ่มเติมในอินเตอร์เน็ต)

เครดิตข้อมูลจากวิกิพีเดีย : อ้างอิงจาก

          1. หนังสือหม่อมเจ้าอากาศดำเกิง รพีพัฒน์ นักเขียนไทย - ชีวิตและงาน

          2. หนังสือ หยดหมึก ปากกา กาลเวลา 4 นักเขียนไทย

#ตอนที่ชอบจากหนังสือเล่มนี้

       “จะมีอะไรอีกเล่าที่ร้ายยิ่งไปกว่าความไม่เสมอหน้าและความอยุติธรรม เด็กที่เจริญวัยแล้วพาลเกเร โดยมากต้องเป็นเด็กที่อาภัพมาแต่เยาว์และเป็นคนช่างคิด เฝ้าคิดเฝ้าแค้นถึงความไม่เสมอหน้าต่างๆ ที่ตนได้รับอยู่เนืองนิตย์ จึงเอาความชอกช้ำใจเป็นมัคคุเทศก์แห่งอุปนิสัย ดังนั้นตนจึงเป็นคนใจแคบเห็นสิ่งต่างๆในโลกเป็นของขมขื่น ปราศจากความไว้ใจในตนเองและผู้อื่น ทั้งนี้จะโทษใครเล่า ความไม่เสมอหน้าหรือความอยุติธรรมเป็นของที่มีอยู่ในโลกตั้งแต่พุทธกัลป์ เป็นภาคสำคัญส่วนหนึ่งของกฎแห่งชีวิต ซึ่งเราจะหลีกเลี่ยงเสียมิพ้น
          แต่ยังมีเด็กจำพวกหนึ่ง เป็นเด็กที่อาภัพมาแต่เยาว์ แต่เมื่อมีโอกาสได้เห็นและรู้จักโลกมามากแล้ว ก็กลับเป็นผู้ที่คอยแต่จะยิ้มเยาะความไม่เสมอหน้า ความอยุติธรรมและความทุกข์ระทมใจ ของตนและผู้อื่น มีวงหน้าอันยิ้มเย้ยสิ่งต่างๆ อยู่เนืองนิตย์ว่า ชีวิตเป็นของธรรมดา เป็นของขันและปราศจากหัวใจ เด็กใดเป็นเช่นนี้ก็เพราะได้รับความชอกช้ำระกำใจมาแล้วจนชิน สิ่งต่างๆที่ตนได้ไปเห็น ได้ไปอยู่ร่วมรู้จักมาแล้วทั่วพิภพนั้นเอง เป็นยาอันสามารถบำบัดน้ำใจโหดร้ายของตนเสียได้ และย้อมหัวใจให้ชื่นบาน แม้จะเป็นคนไม่มีใจ เด็กนั้นก็อาจเล็งเห็นทุกข์สุขของผู้อื่นและพยายามช่วยเหลือตามควร
          ข้าพเจ้าเคยเป็นเด็กมาแล้วทั้งสองชนิด เคยเป็นเด็กที่อาภัพจนถึงกับน้ำตาเช็ดหัวเข่า และเป็นเด็กที่สามารถหัวเราะเยาะโลกได้ทุกเวลา เมื่อท่านอ่านเรื่องราวของข้าพเจ้าจบแล้ว ข้าพเจ้าเองก็ยังเดาไม่ถูกแน่ ว่าท่านจะรู้สึกชังเจ้าของเรื่องสักเพียงไหน”
  • จากหน้าที่ 17-18
  • ฉบับพิมพ์โดยสำนักพิมพ์ Hand Book ตุลาคม 2553
  • ละครแห่งชีวิต : หม่อมเจ้าอากาศดำเกิง ระพีพัฒน์
  • ตีพิมพ์ครั้งแรกในปี พ.ศ. 2472 โดยโรงพิมพ์อักษรนิติ ได้วางจำหน่ายทั่วประเทศ คราวครั้งนั้นเกิดความฮือฮาและความชื่นชมต่อนวนิยายเรื่องนี้เป็นอย่างมาก กลายเป็นหนังสือที่มียอดขายในเวลาที่ไม่นานนักถึง 8,000 – 10,000 เล่ม
          ในคำนำฉบับพิมพ์ครั้งแรกในยุคใหม่เมื่อปี พ.ศ. 2534 ชาลี เอี่ยมกระสินธ์ุ ได้กล่าวไว้ว่า
          “ละครแห่งชีวิต” เล่มที่อยู่ในมือของท่านนี้ เป็นฉบับที่พิมพ์จำลองมาจากการพิมพ์ครั้งที่หนึ่ง เมื่อปี พ.ศ. 2472 หม่อมเจ้าอากาศดำเกิง รพีพัฒน์ ทรงนิพนธ์เรื่องนี้ออกจำหน่ายในราคาค่อนข้างแพงมาก โดยตั้งราคาไว้ถึงเล่มละสองบาท ขณะที่ตลาดหนังสือเมื่อ 60 กว่าปีก่อนนั้น ยังไม่มีนวนิยายของใครจะขายกันถึงสองบาท (เทียบกับเงินตราสมัยนี้ก็มากกว่าสองร้อยบาท) แต่ในการพิมพ์ครั้งที่สองต่อมาได้เพิ่มราคาเป็นเล่มละสามบาทห้าสิบสตางค์ เป็นหนังสือราคาแพงที่ขายดีที่สุด เพราะเป็นเรื่องแปลกใหม่ที่ชวนให้ติดตามตั้งแต่ต้นจนจบ”
          ชาลี เอี่ยมกระสินธุ์ ได้กล่าวคำนิยมไว้ในปกหลังด้านในในฉบับพิมพ์เมื่อปี 2534 นี้ด้วยว่า
          “ละครแห่งชีวิต” ทำให้วงการนักอ่านตื่นเต้นกันอย่างถึงขนาด เพราะเป็นแนวเขียนแบบใหม่ที่ไม่มีใครเคยเขียนมาก่อน ได้รับการยกย่องจากนักอ่านและนักเขียนอย่างกว้างขวางว่า “ละครแห่งชีวิต ควรเป็นหนังสือครู” ในแวดวงชีวิตขณะที่หม่อมเจ้าอากาศดำเกิงฯ ได้ประสบความสำเร็จในชีวิตขณะที่พระชนมายุยังน้อยมากนี้ เป็นความหวังว่าในประพันธพิภพจะต้องมีผลงานอย่างงดงามออกมาอีก แต่ท่านก็ทรงสร้างได้อีกเพียงสองเล่ม คือ “ผิวเหลืองกับผิวขาว” กับ “วิมานทลาย” พร้อมกับเรื่องสั้นอีกไม่มากนัก”
ละครแห่งชีวิต

          ภาพปกประกอบเรื่องซ้ายมือคือฉบับโดยสำนักพิมพ์บางหลวงเมื่อปี พ.ศ. 2534 และขวามือคือฉบับพิมพ์รวมเล่มโดยสำนักพิมพ์ Hand book ในเดือนตุลาคม พ.ศ. 2553

Kapook Creator เป็นเนื้อหาที่นำเสนอโดยผู้สร้างสรรค์ที่เข้าร่วมโครงการ หากพบเนื้อหาที่ท่านเห็นว่าไม่ถูกต้องตามกติกา สามารถคลิกแจ้งปัญหาได้ที่นี่
เรื่องอื่นๆของ Books and My Quotes
Advertisements
เรื่องที่คุณอาจสนใจ
รีวิวละครแห่งชีวิต ต้นแบบนวนิยายต่างแดน 1 ในหนังสือ 100 เล่มที่คนไทยควรอ่าน อัปเดตล่าสุด 15 กุมภาพันธ์ 2567 เวลา 23:37:46 1,244 อ่าน
TOP